ภาพจาก kingmongkut.com
รัชกาลที่ 4 : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี มีพระนามเดิมว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ เมื่อครั้นพระชนมพรรษาได้ 21 พรรษา ได้ออกผนวชตามพระราชประเพณี แต่ผนวชได้เพียง 15 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคต เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงทรงออกผนวชต่อจนกระทั่งรัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต จึงทรงลาสิกขาและเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394
พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือการรักษาเอกราชของชาติ เนื่องจากในช่วงรัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะ อังกฤษและฝรั่งเศส เข้ามาล่าอาณานิคมในดินแดนแถบนี้ จึงทำให้พระองค์มีพระราชดำริในการเปิดสัมพันธภาพกับประเทศตะวันตกและนำมาสู่การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398
ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังได้ทรงวางรากฐานความเจริญก้าวหน้าแบบอารยประเทศมากมาย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีความสนพระราชหฤทัยในเรื่องวิชาดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก โปรดให้สร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยขึ้นในพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งยังทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้น และพระราชกรณียกิจที่สำคัญในด้านดาราศาสตร์ก็คือการพยากรณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ซึ่งพระองค์ทรงพยากรณ์ไว้ได้อย่างแม่นยำ
หลังจากเสด็จฯ กลับจากการทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประชวรด้วยพระโรคไข้มาลาเรีย และเสด็จสวรรคตในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ขณะพระชนมมายุได้ 64 พรรษา รวมระยะเวลาครองราชย์ทั้งหมด 17 ปี และด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ รัฐบาลไทยจึงได้มีมติให้กำหนดวันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และเทิดพระเกียรติให้พระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์
ต่อมาในโอกาสวันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณ ให้พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา การพัฒนาสังคม และการสื่อสาร ประจำปี พ.ศ. 2546-2547
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น